การพัฒนาอย่างยั่งยืน

26 มีนาคม 2567

กิจกรรมมอบปฏิทินเก่า เพื่อส่งต่อให้ผู้พิการทางสายตา 2567 “ฮีโร่ให้”

วันที่ 20 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการลงทุน และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน นางสาวนริศรา ศรีสันต์ ที่ปรึกษากลยุทธ์สื่อสารองค์กร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และนายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำพนักงานจิตอาสาในกลุ่มบริษัทบีทีเอส ส่งมอบปฏิทินตั้งโต๊ะเก่าจากแคมเปญ “ฮีโร่ให้” จำนวนกว่า 20,000 ฉบับ โดยเป็นปฏิทินที่พนักงานกลุ่มบริษัทบีทีเอส ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส และหน่วยงานใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสร่วมกันบริจาค พร้อมทั้งเป็นตัวแทนกลุ่มบริษัทบีทีเอส และผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสมอบเงินจำนวน 786,450 บาท เพื่อสนับสนุนจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อพัฒนาฝ่ายผลิตหนังสืออักษรเบรลล์ โดยมี นางชนิดาภา เพ็ชรรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด เป็นผู้รับมอบ

นายดาเนียล กล่าวว่า กลุ่มบริษัทบีทีเอสได้นำปฏิทินตั้งโต๊ะเก่ามาบริจาคอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นสื่ออักษรเบรลล์ ส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับผู้พิการทางสายตา อีกทั้งเป็นการลดปริมาณขยะ และร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ และการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของสังคม และในปีนี้นอกจากการนำปฏิทินมาบริจาคแล้วนั้น กลุ่มบริษัทบีทีเอสได้ร่วมทำกิจกรรมบันทึกหนังสือเสียง (อ่านนิทาน) และเข้าเล่มหนังสืออักษรเบรลล์ เรื่อง “สุขง่ายๆ แค่ปลายจมูก” เพื่อเป็นการส่งต่อความรู้ผ่านหนังสือเสียง และสร้างโอกาสในการศึกษา ส่งเสริมเพิ่มทักษะ และพัฒนาศักยภาพการศึกษาให้แก่ผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ ได้เข้าถึงข้อมูลผ่านอักษรเบรลล์มากยิ่งขึ้น

นายสุมิตร กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรภาคเอกชน ในการสนับสนุนศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผลิตสื่อ และหนังสืออักษรเบรลล์ ให้กับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาชิกผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศจำนวนกว่า 180,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ผ่านเครื่องพิมพ์ระบบเพลทอักษรเบรลล์ที่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันมีอายุการใช้งานมากว่า 47 ปี ทำให้ไม่สามารถผลิตหนังสืออักษรเบรลล์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงต้องมีการจัดจ้างหน่วยงานภายนอกในการผลิตสื่อฯ

โดยเบื้องต้นทางศูนย์ฯ ได้มีการประสานกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบตอกอักษรเบรลล์สำหรับแผ่นเพลทโลหะ โดยยังอยู่ในระหว่างการทดลองระบบ และเพื่อให้การผลิตสื่ออักษรเบรลล์ดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และลดต้นทุนการผลิต บริษัทฯ จึงให้การสนับสนุนจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อพัฒนาฝ่ายผลิตหนังสืออักษรเบรลล์ ได้แก่ เครื่องถ่ายเอกสารสี ระบบมัลติฟังก์ชัน เพื่อพิมพ์ปกสี่สี และสแกนหนังสือเรียน, เครื่องตัดกระดาษไฟฟ้าสำหรับพิมพ์อักษรเบรลล์ในระบบโรงพิมพ์ และเครื่องทำปกแข็งกึ่งอัตโนมัติ สำหรับการเข้ารูปเล่ม เพื่อให้สามารถรองรับการผลิตสื่อหนังสืออักษรเบรลล์ กับผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ